สืบเนื่องจาก สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ระบุว่า ตามที่ได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ในวันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่า มีผู้เห็นดวงจันทร์
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า
วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566
"รอมฎอน"คืออะไร ทำมุสลิมต้องถือศีลอด จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า
เราะมะฎอน หรือสะกด “รอมะฎอน” หรือ “รอมฎอน” คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์ในศาสนาอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เดือนบวช” และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้เข้าถึงอัลลอฮ์ และเพื่อให้มีความอดทน (ตบะ), การอุทิศส่วนกุศล ระลึกถึงภาวะขาดแคลนอาหาร และผู้ที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น
การถือศีลอด มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงออกถึงความศรัทธา ซื่อสัตย์ มุ่งหวังความใกล้ชิดกับองค์อัลเลาะห์ และเป็นการย้ำเตือนให้ชาวมุสลิมระลึกถึงความลำบากของบุคคลที่ด้อยโอกาสกว่า ดังนั้นในเดือนนี้มุสลิมจึงมักบริจาคให้องค์กรการกุศลและเลี้ยงอาหารแก่ผู้หิวโหย
การถือศีลอดคือการฝึกในการข่มใจตนเอง ทั้งเป็นการชำระร่างกายและจิตวิญญาณ รอมฎอนเป็นเวลาที่จะปลีกตัวจากความสุขทางโลก และมุ่งเน้นการเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยการละหมาดและขอพร ชาวมุสลิมจำนวนมากจะใช้เวลามากขึ้นที่มัสยิดมากกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ ของปี การถือศีลอดในช่วงรอมฎอนเป็นหนึ่งในเสาหลักของศาสนาอิสลามเสมือนกับการละหมาดทุกวัน 5 เวลา และการไปแสวงบุญฮัจญ์ที่นครเมกกะห์ เป็นต้น
ถือศีลอดอย่างไร
ชาวมุสลิมจะละเว้นจากการกินและดื่มในตอนกลางวันโดยเริ่มตั้งแต่แสงอรุณของวันใหม่ขึ้นไปจนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าตลอดทั้งเดือนรอมฎอน การจิบน้ำเพียงนิดเดียวหรือสูบบุหรี่เพียงครั้งเดียวก็ถือว่าทำให้ศีลอดนั้นใช้ไม่ได้
นอกจากนั้นยังห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงกลางวันด้วย และชาวมุสลิมถูกส่งเสริมให้ระงับความโกรธ ด่าทอ นินทา และละเว้นพฤติกรรมที่ไม่ดีอื่นๆ ในเดือนดังกล่าวนี้
ชาวมุสลิมยังได้รับการสนับสนุนให้ละหมาดครบ 5 เวลาทุกวัน อ่านคัมภีร์กุรอาน และขอพร รวมทั้งระลึกถึงองค์อัลเลาะห์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการถือศีลอด มุสลิมจะตื่นขึ้นมารับประทานอาหาร ที่เรียกกันว่า “ซุโฮร์” (suhoor) ซึ่งคือการรับประทานอาหารก่อนรุ่งอรุณเพื่อเป็นพลังงานให้พวกเขาตลอดทั้งวัน
ละศีลอดอย่างไร
มุสลิมจะละศีลอดตามประเพณีเสมือนกับศาสดามูฮัมหมัดได้ปฏิบัติไว้เมื่อ 1,400 ปีที่ผ่านมาด้วยการจิบน้ำและรับประทานอินทผาลัมเล็กน้อย หลังจากละหมาดเสร็จแล้ว ก็จะรับประทานอาหารที่เตรียมไว้ (เรียกว่าอิฟตาร์ – ifttar) ร่วมกับครอบครัวและเพื่อนๆ ทั่วโลกมุสลิม มัสยิดและองค์กรการกุศลจะตั้งเต็นท์เลี้ยงอาหารฟรีสำหรับประชาชนทุกคืนตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ในประเทศอ่าวอาหรับ บรรดาเศรษฐีหรือคนร่ำรวย จะเปิดประตูบ้านของพวกเขาสำหรับคนที่ผ่านไปมาเพื่อเลี้ยงอาหาร ชา กาแฟ และสนทนาร่วมกัน
การยกเว้นจากการอดอาหาร
มีข้อยกเว้นสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน และคนที่เดินทาง ซึ่งอาจรวมถึงนักกีฬาในระหว่างการแข่งขัน
เดือนรอมฎอนสิ้นสุดเมื่อไหร่
หนึ่งเดือนในปฏิทินจันทรคติ อาจมี 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ ดังนั้นในเย็นขอวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอนมุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากเห็นก็ถือว่าวันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง
ซึ่งเท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่ถ้าไม่เห็นก็นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งเมื่อรอมฎอนสิ้นสุดก็จะเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของเดือนรอมฎอน ที่เรียกว่าวัน “อีดฟิตริ”
นำเอาอีกบทความที่น่าสนใจมาฝากกันตรงนี้
6 เคล็ดไม่ลับสำหรับชีวิตมุสลิมหลังรอมฎอน
รอมฎอนได้จากลา ชีวิตผู้ศรัทธาจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งจากการอ่านและการฟัง และนำมาเขียนบันทึกนี้คะ
รอมฎอน เดือนที่ 9 ในปฏิทินอิสลาม เดือนอันแสนประเสริฐได้เข้ามาทักทายและอยู่กับผู้ศรัทธาจนครบเดือนและได้กล่าวอำลาจากไป เมื่อดวงจันทร์ดวงใหม่แสดงบนท้องฟ้าให้เห็น และวันแห่งความรื่นเริงก็เข้ามาเพื่อบอกให้รู้ถึงจุดสิ้นสุดของเดือนอันเป็นที่รักและเฝ้าวิงวอนขอให้ได้ใช้ชีวิตในเดือนที่แสนสวยงามนี้อีกครั้งและหลายๆ ครั้ง อินชาอัลลอฮฺ
เดือนที่ผ่านมา หลายคนตั้งใจแน่วแน่ที่จะถือศีลอด ไม่ใช่เฉพาะงดการกินการดื่ม แต่หมายรวมถึงการงดสิ่งไร้สาระและสิ่งเลวร้ายต่างๆ หลายคนตั้งใจสละเวลานอนที่แสนสบายเพื่อตื่นมาละหมาดและวิงวอนขออภัยโทษจากพระเจ้าผู้ทรงเมตตาในสิ่งที่ผู้ศรัทธาได้ทำผิดพลาดไปตลอดชีวิตที่ผ่านมา หลายคนมีความตั้งใจที่จะอ่านอัลกุรอ่าน ท่องจำ หรือศึกษาความหมายของอัลกุรอ่าน เพื่อให้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นได้ใกล้ชิดและได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ อัซซะวะญัล เพิ่มมากขึ้น หรือบางคนอาจจะใช้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนตั้งต้นเพาะปลูกอุปนิสัยในการแบ่งปัน การบริจาคทั้งกับคนในครอบครัว ญาติสนิท เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่พี่น้องในพื้นที่ห่างไกลที่ประสบความยากลำบากต่างๆ นานา รวมไปถึงหลายๆคนในช่วงท้ายของเดือนรอมฎอนที่ตั้งเป้าหมายแน่แน่วในการตามหาคืนลัยละตุ้ล กอดรฺ เพื่อขออภัยโทษในสิ่งต่างๆที่พลาดผิดไป
คำถามที่มีคือ “รอมฎอนจากลาเพราะการปรากฏของดวงจันทร์ แล้วความดีล่ะ ความพยายามล่ะ ความงามในการทำอิบาดะฮฺ ความสุขสบายใจในการทำความดีล่ะ มันหายไปพร้อมกับการมาถึงของเดือนใหม่หรือไม่” หากคำตอบคือใช่ ก็คงน่าเสียดาย ที่รอมฎอนอันแสนประเสริฐมาทักทายเราแต่ไม่สามารถทำให้เราเปลี่ยนแปลงชีวิตในเดือนถัดๆ มาได้เลย แต่หากคำตอบคือ “ไม่…เราจะไม่ยอมให้สิ่งดีงามต่างๆ หมดไปพร้อมเดือนรอมฎอนอย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ” นี่คงเป็นคำตอบที่ดีสำหรับมุสลิม สำหรับผู้ศรัทธาที่อัลลอฮฺได้มอบความงดงามให้หัวใจและช่วยเหลือให้เกิดความต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาใน 11 เดือนถัดจากรอมฎอน และเตรียมพร้อมให้ได้พบเจอและใช้ชีวิตในเดือนรอมฎอนอีกครั้งและหลายๆ ครั้ง อินชาอัลลอฮฺ
บันทึกนี้อาจจะไม่ใช่บันทึกที่มีความสวยงามหรือทรงคุณค่าในแง่วิชาการ แต่ผู้เขียนหวังว่าบันทึกนี้จะช่วยให้ผู้เขียนและครอบครัว รวมไปถึงเพื่อนสนิทมิตรสหายและผู้ศรัทธาที่ได้มีโอกาสอ่านบันทึกนี้จะสามารถนำสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการเก็บรวบรวม การอ่านหนังสือหลายๆ เล่ม และการฟังอาจารย์หลายๆ ท่านพูดถึง “Post-Ramadan Campaign” ไปใช้ในชีวิตได้ อินชาอัลลอฮฺ
1.ไตร่ตรองและพิจารณา
ถึงสิ่งที่เราได้รับตลอดเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา เมื่อเรารู้ถึงสิ่งที่ดีที่เราทำ และสิ่งที่เราได้รับ ทั้งในแง่ของความสุขกายสบายใจ สิ่งตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต เราจะพบว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้นมาจากอัลลอฮฺที่ได้ทรงมอบให้กับผู้ศรัทธา ในขณะที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์ การที่เราจะยังคงยึดมั่นในการกระทำเหล่านี้ต่อหลังจากเดือนรอมฎอนผ่านพ้นไปแล้วนั้นก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการประสบความสำเร็จและแสดงให้เห็นถึงการมีความยำเกรง (Taqwa) ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา
อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอ่าน ความว่า
“และจงเคารพภักดีพระเจ้าของเจ้า จนกว่าความแน่นอน(ความตาย) จะมาหาเจ้า”(ซูเราะฮฺ อัลฮิจรฺ 15 : 99 )
ต่อเติม……. ตัดทิ้ง
ในระหว่างเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาเราพยายามทำความดีให้มากขึ้นและพยายามระงับหรือหลีกเลี่ยงสิ่งไร้สาระและไม่ดีงามต่างๆ ออกจากชีวิต เมื่อเดือนรอมฎอนผ่านไปความรู้สึกเหนื่อยหรืออยากจะกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมที่อาจจะสิ่งไร้สาระหรือสิ่งไม่ดีงามปะปนเข้ามาในห้วงคำนึงของเรา ให้เราพยายามนึกถึงเสมอว่า “หากเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยปราศจากความไม่ดีงามต่างๆ เหล่านี้แล้วเป็นผลสำเร็จ ก็จงทำให้สิ่งเลวร้ายเหล่านั้นจากเราไปตลอดกาลด้วยเถิด” เราจะไม่รู้สึกเหนื่อยหากเราหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ เราจะไม่รู้สึกท้อหากเรามีเป้าหมายคือการได้กลับไปและได้อยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าของเรา เชื่อเถอะค่ะ ว่า 11 เดือนถัดจากนี้ไป เราจะสามารถต่อเติมความดีและตัดทิ้งความเลวร้ายได้ เช่นเดียวกับเดือนรอมฎอนเช่นกัน
การละหมาด
ในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาเราทำการละหมาดมากมายในหลายช่วงเวลา นั่นบอกเราถึงขีดความสามารถที่แท้จริงของผู้ศรัทธาแต่ละคน หากเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาเราสามารถละหมาดตะรอเวียะ กิยามุลลัยน์ ตะฮัญญุด ละหมาดซุนนะฮฺรอวาติบ ฯลฯ ได้ ในเดือนอื่นๆ เราก็สามารถปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ เราจะไม่รู้สึกว่าเรากำลังเหนื่อยกับสิ่งที่ทำ เพราะผู้ศรัทธาย่อมรู้ดีว่า ช่วงเวลาที่ได้ใกล้ชิดพระองค์ในขณะสุญูดหรือยามค่ำคืนที่มีเพียงเราและพระองค์ที่ทรงรับฟังทุกเรื่องราว ทุกการวิงวอน ทุกการร้องขอของเราอยู่เสมอ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีงามที่สุดในชีวิตของผู้ศรัทธาที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกับอะไรบนโลกใบนี้ได้เลย
การอ่านอัลกุรอาน
การอ่านและทำความเข้าใจอัลกุรอาน ควรทำอย่างต่อเนื่องและควรทำให้เป็นนิสัย เช่นเดียวกับการศึกษาหาความรู้อย่างอื่น เพราะอิสลามนั้นสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและความรู้ความสามารถให้กับผู้ศึกษา
ในแง่ของอัลกุรอานซึ่งเป็นวัจนะของพระเจ้า ยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ศรัทธาจะต้องศึกษาและใช้เวลากับอัลกุรอ่านอย่างต่อเนื่อง เพราะการอ่านอัลกุรอานแต่ละครั้งหัวใจของผู้อ่านจะผ่อนคลาย ความกังวลต่างๆ จะถูกแทนที่ด้วยกับความสบายในหัวใจ และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สร้างและพระเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าของทางนำและเจ้าของวจนะที่สวยงามและแท้จริง
มีฮะดิษรายงานโดยจากอบู อุมามะฮฺ อัลบาฮิลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า
“ฉันได้ยินท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า ‘พวกท่านทั้งหลายจงอ่านอัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานนั้นจะมาให้ความช่วยเหลือต่อเขาในวันกิยามะฮฺ พวกท่านจงอ่านซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺและซูเราะฮฺอาลิอิมรอน เพราะทั้งสองจะมาในวันกิยามะฮฺดุจดังเมฆสองก้อนหรือร่มสองคัน หรือประดุจดังนกสองฝูงที่กางปีกปกป้องเจ้าของทั้งสองซูเราะฮฺนั้น ท่านทั้งหลายจงอ่านซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ เพราะการอ่านมันนั้นเป็นความจำเริญ การละเลยต่อซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ(ไม่อ่าน)ถือว่าขาดทุน และผู้ที่ปลุกเสกไสยศาสตร์ไม่อาจชนะซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺได้'”(บันทึกโดย มุสลิม, 804 )
และฮะดิษที่รายงานโดยท่านอับดุลลอฮฺ อิบนฺ มัซอูด ท่านนบีมูฮัมหมัด (ซล.) ได้กล่าวว่า
“อัลกุรอานนั้นเป็นเสมือนผู้ช่วยเหลือ หากคนหนึ่งคนใดนำอัลกุรอานมาอยู่ทางด้านหน้าของเขา(เอามาปฏิบัติใช้)นั้นแน่นอน อัลกุรอานนั้นจะนำพาเขาไปยังสวรรค์อันสถาพร และหากคนใดนำอัลกุรอานไว้ทางด้านหลังของเขา (ละทิ้งไม่อ่านไม่ศึกษาความหมายและไม่นำมาปฏิบัติ)แล้วนั้น แน่นอนเขาผู้นั้นจะนำตัวของเขาเองสู่ไฟนรก”(บันทึกโดย ฏ็อบรอนีย์)
สิ่งที่ผู้ศรัทธาควรทำตลอดชีวิตคือการอ่านและศึกษาอัลกุรอาน อย่าปล่อยให้การศึกษาการสร้างความผูกพันกับอัลกุรอานหมดไปพร้อมเดือนรอมฎอน แต่จงยึดมั่นในการอ่าน ในการศึกษาไว้ตลอดเวลา เพื่อการพัฒนาทั้งทางด้านความรู้วิชาการ และความสงบสบายในจิตใจ และนำสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องสมบูรณ์
การถือศีลอด
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนได้ผ่านไปแล้ว แต่ยังมีการถือศีลอดที่ผู้ศรัทธาสามารถทำได้ตลอดและมีแบบอย่างจากท่านนบีมูฮัมหมัด(ซล.)ได้กระทำไว้เป็นอย่างที่สวยงามในการถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสบดีได้ตลอดในทุกๆ เดือน หรือตลอดเดือนเชาวาล โดยการถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาลให้ภาคผลเท่ากับการถือศีลอดถึง 1 ปี อัลฮัมดุลิลละฮฺ การถือศีลอดถือเป็นการชำระล้างทั้งทางร่างกาย จิตใจและวิญญาณ ดังนั้นการถือศีลอดอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายของเรามีสุขภาพที่ดีขึ้น จิตใจมีความมั่นคงมากขึ้นและ เพิ่มพูนความยำเกรงหรือตักวาให้มากขึ้น อินชาอัลลอฮฺ
นอกจากนี้การถือศีลอดสุนนะฮฺเป็นประจำนั้น ยังมีฮะดิษที่ท่านนบีได้กล่าวไว้ ความว่า
“แท้จริงในสวรรค์นั้นมีประตูหนึ่ง ถูกเรียกว่า อัรร็อยยาน ซึ่งบรรดาผู้ถือศีลอดนั้นจะได้เข้าจากประตูนั้นในวันกิยามะฮ์ โดยไม่มีผู้ใดสามารถเข้าจากประตูนั้นได้นอกจากพวกเขาเหล่านั้น (ในวันกิยามะฮ์นั้น) จะถูกกล่าวขึ้นว่า บรรดาผู้ถือศีลอดอยู่ใหน? แล้วพวกเขาก็ยืนขึ้น โดยไม่มีผู้ใดสามารถเข้าจากประตูนั้นได้นอกจากพวกเขาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อพวกเขาได้เข้าไปแล้ว ประตูก็ถูกปิด แล้วไม่มีผู้ใดเข้าไปได้อีกเลย”(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษเลขที่ 1896, และมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 1152
*** อย่าพลาดโอกาสพิเศษ ที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานให้กับพวกเรานะคะ มาถือศีลอด 6 วันในเดือน
เชาวาลกันนะคะ อินชาอัลลอฮฺ (ปล.สำหรับผู้ที่ต้องถือศีลอดชดใช้ที่ขาดไปในช่วงรอมฎอน จะต้องถือชดใช้ให้เสร็จสิ้นก่อนเริ่มการถือศีลอดสุนนะฮฺนะคะ) ***
บริจาคต่อเนื่อง…..เสบียงสู่ความสำเร็จ
หลังจากการแบ่งปันได้สร้างความสุขล้ำในหัวใจของผู้ให้และผู้รับในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา หลายๆ คนได้เป็นผู้ชำระซะกาต หลายคนได้ทำงานเพื่อสังคม ลงทุน ลงแรง ลงใจ และให้ความช่วยเหลือหรือแม้แต่การอำนวยความสะดวกให้เกิดความง่ายดายในการบริจาคและแบ่งปันในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา เมื่อเดือนรอมฎอนจากลาไป อยากจะให้ความรู้สึก “อยาก” แบ่งปัน นี้ยังคงอยู่กับเราเสมอไป และวิงวอนขอให้อัลลอฮฺได้โปรดตอบรับการงานที่ดีของพวกเราทุกคนในช่วงเดือนที่ผ่านมาและได้โปรดช่วยเหลือและประทานความเข็มแข็งให้กับพวกเรา เพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นมุสลิมที่ดีขึ้นในทุกๆ วันของชีวิต อามีน
โลกนี้หาก เราดำรง อย่างรู้ค่า
แสวงหา ความโปรดปราน ทุกสิ่งสรรค์
หากว่าอยาก ได้ที่พำนัก อันนิรันดร์
อย่าหยุดสรรค์ สร้างสิ่ง ที่ดีงาม
สวรรค์อัน สถาพร นั้นรออยู่
ให้กับผู้ ทำตาม คำสั่งใช้
หากผู้ศรัทธา อยากได้มัน ด้วยหัวใจ
จงรีบเร่ง ทำใน สิ่งที่ควร
อัลกุรอาน ละหมาด ถือศีลอด
สิ่งควรงด ละเลิก ให้ห่างหาย
ดำรงไว้ ซึ่งการ แจกและจ่าย
แล้วจงเชื่อ มั่นในสิ่ง ที่สัญญา
เพราะอัลลอฮฺจะไม่ทรงบิดพลิ้วสัญญาของพระองค์ ขอเพียงแต่เรา ในฐานะบ่าวของพระองค์จะยังคงรักและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์ผ่านทางการกระทำตามคำสั่งใช้ของพระองค์และปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านนบีมูฮัมหมัด(ซล.)ได้ทำไว้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเรา
ปิดท้าย …. อยากสรุปเล่าเรื่องถึงคำพูดคำสนทนาระหว่าง อิหม่ามอะหมัดและลูกชายของท่าน ซึ่งเป็นคำพูดที่ผู้เขียนเองมักจะใช้ในการกระตุ้นตัวเองในการทำงานเสมอๆ มาฝากกันค่ะ
เมื่อลูกชายของท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด อิบนฺ ฮันบัลได้เอ่ยถามว่า “เมื่อไหร่เราและท่านจะได้หยุดพักกับการทำงานและทุกสิ่งที่มันหนักอยู่ในตอนนี้หรือ” อิหม่ามอะหมัดมองไปที่ดวงตาของลูกชายท่านแล้วกล่าวว่า “เราจะหยุดก็ต่อเมื่อ เท้าข้างนึงของเราได้เดินเข้าสู่สวรรค์แล้วเท่านั้น”
Imam Ahmed’s son once asked him: Father when will we ever relax?”, he looked his son in the eyes and said ” With the first step we take into Jannah”
…. หากบทความนี้มีความดีงามใดๆ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วมาจากอัลลอฮฺ อัซซะวะญัล ทั้งสิ้น และหากบันทึกนี้มีข้อผิดพลาดประการใดเป็นเพราะความอ่อนรู้ของทางผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว
ขอให้พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงโปรดอภัยโทษในความรู้ที่น้อยนิดและขอให้พระองค์ได้ทรงเพิ่มพูนซึ่งแนวทางและความรู้ที่ยังประโยชน์ให้กับตัวทุกคนด้วยเถิด อามีน ยาร็อบบฺ
About author: Metinee Adam
ทำความรู้จัก คุณ Metinee Adam
คุณแม่ผู้หลงรักงาน DIY และชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ จึงทำให้เธอสนใจงานแปลและงานเขียนโดยเน้นไปที่บทความและหนังสือสำหรับครอบครัวมุสลิม การได้ทำงานเป็นโค้ชให้กับพ่อแม่ในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยวิถีแห่งอิสลามก็เป็นอีกงานที่เป็นความสุขของเธอ นอกจากนั้นเธอยังทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบสื่อและหลักสูตร Islamic Homeschool โดยใช้ชื่อบ้านเรียนของเธอว่า "Sow The Seeds Islamic Homeschool"
และเขียน Blog เพื่อใช้ในการเก็บร่องรอยแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกับการรีวิวหนังสือดีๆ สำหรับครอบครัวมุสลิมไปในเวลาเดียวกัน
ที่เขียนไว้ในเพจดัง halalllifemag ทีมข่าว ต้องขอขอบคุณทุกแรงบันดาลใจดีๆ จากบทความของเธอ มา ณ โอกาสนี้
Designed by www.diablodesign.eu.